การเรียนเปียโนของพี่ปันปัน
นับว่าเป็นความโชคดีของคุณแม่ค่ะที่สามารถหาครูดนตรีที่มีความมุ่งมั่นในการสอน และมีทัศนคติในเรื่องของการเรียนดนตรีที่ถูกใจคุณแม่ บังเอิญคุณแม่ได้อ่านเจอบทความที่เขียนโดยครูอ้อ เรื่องความสำเร็จของการเรียนดนตรีว่า ต้องอาศัยความเข้าใจ และความร่วมมือกันทั้งสามฝ่าย ระหว่าง ผู้เรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอน จึงจะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในการเรียนได้ ความตั้งใจเริ่มแรกในการอยากให้ลูกเรียนดนตรี ก็คือ อยากให้น้องปันปันมีทักษะทางด้านดนตรีเพราะอย่างน้อยก็คงจะช่วยในเรื่องของสมาธิและจิตใจให้ละเอียดอ่อน และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือน้องปันปันมีความชอบด้วย
โดยก่อนที่จะมาเรียนกับครูอ้อ น้องปันปันเรียนดนตรีที่โรงเรียนแถวบ้าน เป็นการเรียนแบบกลุ่มซึ่งน้องก็ชอบ เนื่องจากมีคนเรียนหลายคน และน้องปันปันก็ให้ความร่วมมือในการฝึกซ้อมเป็นอย่างดี เพลงก็ไม่ยากมาก ถึงแม้ว่าคุณแม่จะไม่มีพื้นฐานทางด้านเปียโนเลย แต่ก็พอจะทราบบ้างหลังจากเข้าเรียนร่วมกับลูกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความรู้สึกว่าลูกน่าจะเรียนไหว ถ้าเนื้อหายากกว่านี้จึงตั้งใจว่าจะให้ลูกเรียนเปียโนเดี่ยวด้วย และนี่จึงเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ตั้งใจให้ลูกได้มาเรียนเปียโนกับครูอ้อ
หลังจากที่เริ่มเรียนไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 50 คุณแม่สังเกตว่า น้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ประการแรกคือ สามารถอ่านโน้ตได้เอง (แตกต่างจากการท่องจำโน้ตนะคะ) การวางมือดีขึ้น การใช้นิ้วมีความถูกต้องมากขึ้น รู้จักที่จะเล่นเสียงหนักเบาได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไป คุณแม่พยายามที่จะให้น้องฝึกซ้อมทุกวัน แต่ก็มีบ้างที่บางวันไม่ได้ซ้อมเลย เนื่องจากมีการบ้านที่โรงเรียนต้องทำมาก แต่อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3-4 วัน วันละประมาณ 30 นาที ก็จะพยายามให้ซ้อม ช่วงนี้ขึ้น level 3 ก็จะมี CD ให้ฝึกซ้อม ซึ่งน้องก็จะชอบเล่นกับ CD มาก โดยเฉพาะเพลงที่ชอบก็จะขอเล่นหลายรอบมากจนกระทั่งเพลงอื่นๆ ไม่ได้ซ้อม สิ่งสำคัญคือพยายามที่จะไม่บังคับและจะชมเชยเมื่อเค้าตั้งใจเล่น (ครูอ้อขอแทรกว่า น้องปันปันมีความตั้งใจเรียนและซ้อม คุณแม่จึงไม่ต้องบังคับ แต่ถ้าเด็กที่ไม่ตั้งใจ การบังคับจะยังคงต้องมีค่ะ)
แต่เนื่องจากคุณแม่ไม่มีพื้นฐานด้านนี้เลย คุณแม่จำเป็นต้องศึกษาเองก่อน โดยดูว่าโน้ตที่จะเล่นนั้นคือตัวอะไร เพื่อที่เวลาน้องปันปันเล่นจะได้พอทราบบ้างว่าเล่นถูกหรือเปล่า หลายครั้งที่คุณแม่ไม่เข้าใจในแบบฝึกหัด ก็จะมีการโทรหาครูอ้อเพื่อทำความเข้าใจก่อน ซึ่งก็จะได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดีเรื่อยมา ท้ายนี้คุณแม่ขอบคุณครูอ้อมากค่ะที่ช่วยหาเวลาให้น้องปันปัน ได้มีโอกาสเรียนกับคุณครู และก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกได้มีดนตรีในหัวใจ และมีความรักในเสียงดนตรีค่ะ
การฝึกฝนสร้างความสมบูรณ์เเบบ
การฝึกฝนหมั่นซ้อมเปียโนทำให้เราสามารถพัฒนาฝีมือได้อย่างก้าวกระโดด หากไม่หมั่นฝึกฝนแล้วล่ะก็ อาจจะโดนความทุ่มเทของครูอ้อโถมใส่จนตั้งตัวไม่ทันเป็นเเน่เเท้ (ฮา) ปรางได้รับเเจ้งข่าวว่าจะมีการเเข่งขันก็หลายเดือนก่อน ในตอนนั้นฝีมือยังอ่อนด้อย เพราะเเมงขี้เกียจเยอะ เลยสั่นหัวขอบายไป เเต่จริงตอนนั้นสองจิตใจสองใจมาก อยากลงเเข่ง เเต่คิดว่าฝีมือของเราคงไม่ดีพอ เลยไม่ลงเเข่ง ทว่าภาษากายคงยังไม่ชัดพอ คำที่หลุดออกจากครูอ้อทำให้ปรางเหวอเลย “ไหน ลองเล่นเพลงเเข่งซิ” อารมณ์ประมาณคงเเบบว่า …. งานเข้า เเต่โชคดี ซ้อมมาพอกล้อมเเกล้ม เพลง Sonatina เลยถูไถพอได้ เเต่ก็เริ่มรู้ชะตากรรม เลยลงเเข่งไปซะเลย หลังจากนั้นเพลงก็เริ่มเป็นไม้เบื่อไม้เมา ทั้ง Rag ทั้ง Time’s Up ทั้ง Sonatina เป็นเหมือนมีดที่คอยจ่อคอหอยให้หายใจไม่ออก พอเล่นปุ๊บ ความกังวลก็เเผ่ไปตามโน๊ตเเต่ละโน๊ต เอ จะจำโน๊ตได้ไหมนะ นิ้วเเข็งจัง มือเย็นอีกเเล้ว เลยเล่นไปทั้งความกังวล ผลสุดท้าย พอเราไม่มั่นใจ จากที่จำโน๊ตได้ ดันลืมโน๊ตซะงั้น เป็นครั้งเเรกที่ลืมโน๊ตเเล้วกู่ไม่กลับ ภาพกรรมการสั่นกระดิ่งคอยหลอกหลอนเต็มที่ ถ้าในการ์ตูนคงประมาณปรางตัวเล็ก เเล้วมีกรรมการหัวเราะฮ่าๆๆๆ เต็มพื้นหลังไปหมด
เหมือนการซ้อมครั้งนั้นเหมือนมีดปักอกดังฉึก ปกติเขาจะรอให้เเผลเเห้ง เเต่ปรางออกเเนวซาดิสต์ค่ะ จากซ้อมนึดนึง เป็นพาวเวอร์อัพ วิญญาณสาวบ้าพลังเข้าสิง ค่อยๆ ซ้อมฮาร์ดคอร์ทีละเล็กละน้อย จนชั่วโมงการซ้อมยืดออกไปเรื่อยๆ เเละยืดมากตอนซ้อมบ้านครูอ้อ ตอนเปิดเทอม เรายังเล่นเปียเอามันส์ พอปิดเทอมมาปุ๊บ ครูอ้ออัดเรียนเปียโนเข้าเจ็ดครั้ง ครั้งเเรกๆ ครูอ้อให้เล่นเเกรนด์ คีย์ของคุณลุง Howard หนักมาก เเต่มันส์มากอีกเช่นกัน เเรงงี้ใส่กันเต็มที่ๆๆๆๆ รู้สึกว่านิ้วเเข็งประมาณบีบคอเด็กเเหลกคามือ (บอกเเล้วค่ะว่าซาดิสต์) เเต่พอซ้อมไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชินมือ มันส์กว่า Yamaha ตัวจิ๋วที่บ้านเสียอีก
หลังจากนั้นครูอ้อก็จัด House Concert ทำให้โชคชะตาพาพี่จ๋ายมาพบกับปรางเเล้วก็น้องปลื้ม (พิมพ์ตั้งนานเพิ่งพิมพ์ถึงน้องตัวเอง) พี่จ๋ายเป็นหนึ่งในคนที่คุยมันส์ที่สุดในจักรวาล ท่าสวยเเละเล่นเก่งมาก ไม่หลุดสักรอบ เป็นปราง สิบรอบหลุดไปไกลถึงดาวอังคารเเล้วค่า หลังจากนั้นเพียงสองวันหมายเรียกตัวจากครูอ้อก็ดำเนินมาเรื่อยๆ พี่จ๋ายเริ่มเล่าถึงความหูดีของครูอ้อให้ฟัง ปรางเงี้ยทั้งทึ่งทั้งขนลุก (?) สุดยอดมากค่า ครูอ้อ เเต่ในความสนุกสนานต้องมีความเหน็ดเหนื่อย การซ้อม ม-า-ร-า-ธ-อ-น ค่อยๆ เริ่มขึ้น บางครั้งง่วงเเละเหนื่อยมาก เห็นคีย์หนึ่งช่องมีสองรู เพราะซ้อมมาตั้งเเต่สิบโมง ถึง สี่ทุ่ม สติสตังตามไปกับโน๊ต เเต่มีพี่จ๋ายคอยชวนคุยก็สบายไปเยอะเลย หลังจากผ่าน House Concert มาหนึ่งรอบ เเละผ่านการซ้อมมหาโหด หมายเรียกตัวก็ตามมาเป็นลำดับด้วยการจัด House Concert รอบสอง ชี้ชะตาในวันเสาร์ ปรางกับน้องปลื้มมาตั้งเเต่เที่ยงกว่าๆ เลยนั่งเเช่ซ้อมตึ่งๆๆ ไปรอพี่จ๋ายมาเล่นต่อ เเต่รอบนี้ไม่เครียด มีน้องนิวกับน้องไนท์มาเล่นด้วย เเล้วก็เจนนี่อีกคน (ซนมาก วันหลังอย่ากระโดดตึกอีกนะคะ พี่เสียวเเทน) ผลัดกันช่วยจัดของ พอหกโมง คิว House Concert ก็ทยอยมาเป็นคนเป็นลำดับ ตอนเเรกยังเฉยๆ คิดไปเรื่อยเปื่อยว่าจะโค้งเเบบโนดาเมะดีมั้ยน้อ? เเต่พอใกล้ๆ รู้สึกว่ากระเพาะเริ่มตีลังกา เหงื่อออกนิ้วเยอะ เลยใช้ความรู้จากการเรียนพระพุทธศาสนา หลักอานาปานสติ เอ้า นับหนึ่ง เอ้านับสอง หลับตาท่องไปจนถึงคิวพี่จ๋าย พอพี่จ๋ายเล่น ช่างเเละ เดี๋ยวค่อยนับ (อ้าว?)
ตอนพี่จ๋ายเล่น ลุ้นมาก ไม่รู้จะลุ้นเเทนทำไม เเต่ลุ้นเหงื่อออก ลุ้นว่าพี่เขาจะลนไหม? จะเล่นพลาดรึเปล่า? เเต่พี่เขาดูเหมือนจะชิวๆ มาก เเต่พออกมา พี่เขาก็ดูปกติดี (?) เเต่หน้าซีดนิดหน่อย เเต่พอปรางเข้าไปเล่นปุ๊บ คิดว่า บรรยากาศไม่ค่อยมาคุเเฮะ ห้องครูอ้อยังมาคุ กว่าเลย เเต่จริงๆเเอบหวั่นว่าจะลืมโน๊ตนิดหน่อย เเต่ว่าด้วยพลังการซ้อมที่เเทบจะงอกรากติดกับเก้าอี้ House Concert ครั้งนั้นเลยผ่านไปได้ด้วยดี (เเม้ว่าจะสลับคิวเพลงนิดหน่อย) จำได้ว่า ครั้งนั้น ง่วงมาก หนึ่งคีย์มีสี่รู จบสูตรสำเร็จ เข้าโหมดสลบหน้าเปียโน เเต่หลังจากตื่นนอน ได้ข่าวว่าพี่จ๋ายอยู่โยงถึงห้าทุ่มครึ่ง เลยฮึดซ้อมซะ จำได้เเม่นเลยว่า ณ อุณหภูมิยี่สิบองศา เหงื่อจำนวนหลายหยด หยดติ๋งๆ บนคีย์เปียโน
การซ้อมนั้นถ้าซ้อมอย่างไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดหมาย ไม่เเก้ไข ปล่อยให้ผ่านไป มันจะเป็นการสอนให้นิ้วเราเล่นอย่างนั้นผิด เหมือนปรางตอนเล่น Sonatina ถ้าเราไม่ใส่ใจที่จะฟังสิ่งที่ครูอ้อย้ำ ก็จะเหมือนการสร้างการเล่นผิดๆ จนกู่ไม่กลับ ว่าบรรยากาศห้องครูอ้อมาคุเเล้ว บรรยากาศการเเข่งคงยิ่งกว่านี้ ตอนไปดูน้องปลื้มเล่น มันส์สุดจะบรรยาย ไฟมืดๆ สปอตไลท์สว่างจ้า (ร้อน) โอยสุดยอด รอบน้องปลื้มยังไม่เท่าไหร่ พอน้องปลื้มเล่นจบปุ๊ป โทรศัพท์จากครูอ้อ หมายครั้งสำคัญในครั้งนั้นเเจ้งว่า ให้ปรางไปค้างบ้านครูอ้อ การไปค้างครูอ้อครั้งนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการซ้อมเปียโน ซ้อมมากๆไม่ต้องกินข้าวได้เลย อิ่มโน๊ต ตอนหกโมงครึ่ง เริ่มสตาร์ทซ้อม ตอนเเรก กำลังนิ้วถดถอยมาก เลยฮึด ครูอ้อบอกว่า ไม่ต้องเกรงใจ พักได้ กินได้ เเต่ห้ามง่วง เลยเเก้ๆๆๆๆ ไปจนถึงห้าทุ่มกว่า หลังจากซ้อมมาเป็นเวลานาน ครูอ้อขอจรลีลี้ไปพักผ่อน เลยซ้อมเเถมนิดหน่อย ประมาณใกล้ตีหนึ่งก็นอนพัก ตื่นมาอีกทีก็หกโมง นั่งเล่นเปียโนต่อ เเต่นั่งอู้ได้นิดหน่อย พักผ่อนได้ สบาย พอเย็นๆ คนที่เเข่งรุ่น B ทั้งหมดก็มารวมกัน ปรางเลยขอบายไปพักผ่อน
ในวันเเข่งจริง บรรยากาศมันเเปลกๆ เหมือนเหล่าครูเปียโนทั้งหลายปล่อยพลังคอสโมใส่ผู้เเข่งขันคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกศิษย์ตน มันเหมือนมีจิตสังหารลอยเต็มอากาศเลยค่ะ ปรางมาช้า เข้ามาก็เจอพี่ จ๋ายเข้าเเถวเเล้ว ปรางเลยให้กำลังใจเงียบๆ เห็นพี่เขาเข้าฌานขั้นสูงเเล้ว ตอนเห็นเวทีในรอบที่ตัวเองจะเล่นกับรอบที่น้องปลื้มเล่นมันเเตกต่างกันนะคะ เหมือนว่าเราเห็นเวที เห็นอะไรต่างๆมาเเล้ว ใจมันค่อยๆนิ่งไป ใช้สมาธิ เเล้วก็ปล่อยตัวไปตามโน๊ตที่จะเล่น พอเห็นพี่จ๋ายเล่นด้วยเเล้วสบายใจมากกว่า เหมือนรู้สึกเล่นที่บ้านครูอ้อ ตอนพี่จ๋ายเล่นก็ลุ้นค่ะ เหมือนเดิม ลุ้นเสร็จปุ๊บ ก็ทำใจสบายๆ พอเขาเรียกเราไป เราก็ไปนั่งตามที่เขาบอก ที่จริงก็ไม่ได้เครียดนัก วิธีสลายความเครียดหนทางหนึ่ง คือการสร้างมิตรภาพกับคนข้างๆ ปรางได้เพื่อนมาหนึ่งคน เป็นเด็กผู้หญิง ชื่อนั้นค่อยว่ากัน คุยกันสนุกมาก เเต่พอใกล้เล่น ทุกคนเข้าสมาธิ งดให้ปากคำใดๆ ทั้งสิ้น
ตอนปรางขึ้นไปเล่น ขาจะเกร็งเพราะว่าพื้นเป็นไม้ เวลาเดินจะค่อนข้างดัง เเต่พอผ่านด่านการเดิน ก็มาถึงการโค้ง โค้งมั่นๆ ใช้ Eye-Contact เเล้วก็นั่งเล่น จัดเก็บเสื้อผ้า เช็ดคีย์ ทำสมาธิเเม่นๆ เเล้วก็เล่นเสียงตามที่ตนต้องการออกมา คีย์ที่กดไป มันสึกมากเเล้ว เพลง Sonatina เลยอาจออกมาเเปลกกว่าปกติ เเต่พอสักพักก็คุมเสียงได้ เลยเล่นอย่างใจหมาย พอเล่นเสียงหาย ก็ใจหายซะเลย หลังจากผ่านการบรรเลงเพลงบังคับ ถึงคิวกรรมการเลือกเพลง พอ Dr.Robert Keane(กรรมการ) ประกาศว่า “Time’s Up” by Kerin Baily ปรางมั่นใจได้เลยค่ะว่าได้ยินเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ดังมาถึงเวที ตอนเล่นเเรกๆ ก็ดี เเต่พอถึงท่อนที่ต้องเชื่อมเสียง อ้าว ลืมวางเท้าที่ pedal เลยเเอบยืดเสียงนิดนึง หา pedalไป คนที่ดูอาจจะสังเกตุว่าเหมือนงมหาปู ก้มๆมองๆที่เท้า ที่จริงหาpedal ค่ะ ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เเม้ว่าจะไม่เข้ารอบเเละเพื่อนๆคนอื่นๆเข้ารอบ ปรางตามไปดูที่รอบชิงชนะเลิศ ขอบอกว่า ไม่มีดวง มีเเต่ฝีมือที่มาประชันกัน มันเกินคำบรรยายมาก กินกันไม่ลงสักคน
การที่เราฝึกซ้อมนั้นใช่ว่าจะเสียเปล่า การลงเเข่งเเละบรรยากาศของการเเข่งในครั้งนี้ ปรางชอบมาก รู้สึกสนุก ในเเต่ละครั้งที่เราได้เเสดงฝีมือเต็มที่ เหมือนยกโลกทั้งใบออกจากอก เเม้ว่าจะไม่ได้เข้ารอบ เพราะเพิ่งมาฮึดซ้อมช่วงโค้งสุดท้าย เเต่ถามว่าเสียดายเวลาไหม ไม่เลย กลับกัน ปิดเทอมครั้งนี้ดูเหมือนจะคุ้มค่ามากที่สุด ได้เจอทั้งความลำบาก เพื่อนฝูง ความทรหดอดทน ถือว่าคุ้มค่ามาก ปรางว่า การเเข่งขันครั้งนี้คงจะจุดไฟให้ใครหลายคน เหมือนกับปราง ถ้าเป็นไปได้ ปรางก็อยากลงเเข่งอีกนะคะ จะได้พิสูจน์ฝีมือ เเละเเข่งกับตนเองอีกครั้ง ใครบางคนกล่าวว่า “ขีดจำกัดของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด เเละยังสามารถพัฒนาไปอีก” ปรางว่าหลายๆ คนเเละปรางคงพร้อมอีกครั้งที่จะยืดขีดจำกัดการซ้อมเพื่อไปสู่จุดหมายเเล้วค่ะ สวัสดี ทวีชัยค่ะ
การเรียนเปียโนของพี่พฤกษ์
ก่อนมาเรียนเปียโนกับครูอ้อ พฤกษ์หยุดเรียนเปียโนไปประมาณ 2 ปี พอหยุดเรียนไปนานก็ชักจะไม่อยากเรียนเปียโนอีก อ้างว่าเพลงของหนังสือเล่มที่เรียนไม่เพราะ ไม่อยากเรียนแล้ว ดิฉันก็รู้สึกว่าเคยเรียนมาแล้วถ้าทิ้งไปก็น่าเสียดาย ก็เลยบอกพฤกษ์ว่าจะหาคุณครูให้นะ จะเรียนหรือเปล่า พฤกษ์ก็บอกว่าเรียนก็ได้ถ้าคุณแม่เสียดาย ก็เลยถามคุณแม่พี่ฝน (ดวงกมล) ว่าพี่ฝนเรียนเปียโนที่ไหน คุณแม่พี่ฝนบอกว่าเรียนเปียโนกับครูอ้อ ก็เลยได้โทรคุยกับพี่ฝน พี่ฝนบอกว่าครูอ้อจะเข้มงวดเรื่องเรียนมาก จะต้องฝึกซ้อมด้วย ซึ่งดิฉันก็คิดว่าเจอครูที่เข้มงวดก็ดีพฤกษ์จะได้ขยันซ้อม เพราะการเรียนดนตรีถ้าไม่ฝึกซ้อมทักษะและความชำนาญก็จะไม่มี และพอทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี ก็จะพาลเบื่อไม่อยากเรียนไปเลย
เมื่อมาเริ่มเรียนครูอ้อก็ให้เตรียมสอบเกรด 4 และมีหนังสือเรียนหลายเล่มพร้อมกัน ซึ่งจากที่เคยเรียนมาก็จะเรียนไปทีละเล่ม ซึ่งการใช้หนังสือหลายเล่มก็ต้องเรียนหลายเพลง การฝึกซ้อมก็ต้องมีมากขึ้นจึงจะซ้อมได้ครบ พอเรียนเปียโนกับครูอ้อไปสักพักหนึ่งก็มาเล่าให้ดิฉันฟังว่าเพลงที่ครูอ้อสอนมีแต่เพลงเพราะๆ พฤกษ์ชอบทุกเพลงเลย ทั้งๆ ที่เป็นเล่มเดิมที่เคยบอกว่าเพลงไม่เพราะ เรียนไปได้ไม่นานก็มีการแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นการแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกของพฤกษ์ เขาก็จะตื่นเต้นมาก และขยันซ้อมมากขึ้นเพราะกลัวทำไม่ได้ ต่อมามีการแข่งขันเปียโนครูอ้อก็จะให้ไปแข่ง เพลงที่ใช้ในการแข่งขันก็มักจะยากกว่าเกรดที่จะสอบ ก็ต้องฝึกซ้อมมากขึ้นอีก ซึ่งการที่ครูอ้อให้พฤกษ์เข้าร่วมการแข่งขัน แสดงคอนเสิร์ตและสอบเกรดก็ทำให้ต้องขยันฝึกซ้อมมากขึ้น วิธีการสอนของครูอ้อนี้เองก็เลยทำให้พฤกษ์มีพัฒนาการด้านดนตรีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถสอบข้ามเกรดได้โดยไม่ต้องสอบทุกเกรด และครูอ้อก็จะรู้ว่าลูกศิษย์แต่ละคนมีสไตล์การเล่นแบบไหนก็จะเลือกเพลงให้เหมาะกับคนนั้น ครูอ้อไม่ได้สอนพฤกษ์แค่เพียงเปียโนเท่านั้น แต่ก็ยังช่วยแนะนำและสอนในด้านอื่นๆ ด้วย ดิฉันต้องขอขอบคุณครูอ้อมากๆ ที่ทำให้พฤกษ์กลับมาเรียนดนตรีด้วยความสนุก และสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้รวดเร็วมาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ
ครั้งแรกในการแสดงบนเวทีของขนุน
เมื่อผมได้เรียนเปียโนกับครูอ้อ ทำให้รู้ว่าการซ้อมอย่างสม่ำเสมอมีผลต่อการพัฒนาการเล่นเป็นอย่างมาก แต่ผมซ้อมไม่สม่ำเสมอนัก จนกระทั่งครูอ้อส่งผมเข้าร่วมการแข่งขัน Junior Piano Competition มีเพลงที่ต้องเล่น 3 เพลง มีเวลาฝึกซ้อม 2 เดือนก่อนการแข่งขัน จากการที่ผมได้ขึ้นเวทีเป็นครั้งแรก เป็นสิ่งที่ตื่นเต้นมากที่สุด แต่ยังดีที่มีการจัด House Concert ก่อนขึ้นเวที ทำให้รู้สึกดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังตื่นเต้นมากอยู่ดี ตอนเดินขึ้นเวทีผมสั่นมาก แต่ดีที่บนเวทีมีไฟส่องมาที่ตัวเราตลอด ทำให้มองไม่เห็นผู้ชม เห็นเฉพาะกรรมการ ซึ่งช่วยได้มากทีเดียว เมื่อนั่งลงบนเก้าอีก ผมก็เริ่มตั้งสมาธิ และเริ่มเล่นเพลงแรก เล่นไปสักพัก มือก็เริ่มสั่นอีกทำให้สะดุด แต่ก็ควบคุมได้และเล่นจนจบสองเพลง พอลงจากเวทีรู้สึกโล่งมากและทำได้ดีกว่าที่คิด จากการที่ได้เข้าแข่งขัน ทำให้ผมได้ประสบการณ์มากมาย ได้เห็นคนที่เล่นเปียโนเก่งๆ หลายคน และได้รู้วิธีการวางตัวบนเวทีอีกด้วย ถึงแม้ว่าผมจะตกรอบก็ตาม แต่ผมก็ไม่รู้สึกเสียดายเลย กลับรู้สึกคุ้มค่ามากที่ได้ลงแข่งขันครับ เป็นประสบการณ์ที่ดีจริงๆ
“ถ้ามีการแข่งขันอีก ผมอยากลงสมัครอีกครับ”
การแข่งขันครั้งแรกของพี่จ๋าย
ราวประมาณ 3-4 เดือน ก่อนการแข่งขันน้องจ๋ายกลับจากเรียนเปียโนได้มาบอกคุณแม่ว่า คุณครูอ้อให้สมัครลงแข่งขันเปียโนในรอบนี้ คุณพ่อและคุณแม่ได้ยินแล้วยังรู้สึกตกใจ ยังคิดว่า จะไหวมั้ยเนี่ย เพราะน้องจ๋ายเป็นเด็กที่ไม่ค่อยจะซ้อมสม่ำเสมอ จะซ้อมก็ต่อเมื่อวันไหนกลัวคุณครู ซึ่งก็จะรีบซ้อมทันที คุณพ่อคุณแม่เตือนก็จะไม่ค่อยฟัง (อาจจะเป็นช่วงวัยรุ่น) หลังจากนั้น คุณครูก็โทรมาคุยเกี่ยวกับการแข่งขัน ซึ่งคุณแม่ก็ยินดี เพราะจะได้เป็นประสบการณ์ของตัวน้องจ๋ายเอง เป็นโอกาสที่ได้ร่วมการแข่งขันกับสถาบันที่ได้รับการยอมรับ และจะได้ทราบว่าการแข่งขันเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อรับปากคุณครูแล้วคุณแม่ก็ยังเป็นกังวล เพราะรู้ว่าการแข่งขันจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ต้องซ้อมอย่างหนัก เพราะผู้แข่งขันแต่ละคนก็ต้องเตรียมตัวมาอย่างดี หลังจากนั้นน้องจ๋ายก็ซ้อม แต่ก็ยังไม่สม่ำเสมอ คุณแม่มักจะเตือนเสมอว่า “ลูกต้องแข่งนะ ไม่ใช่เล่น concert อย่างที่แล้วๆ มา” แต่น้องจ๋ายก็ยังคงไม่ใส่ใจที่คุณแม่เตือนมากนัก อาจเป็นเพราะน้องจ๋ายไม่เคยมีประสบการณ์การแข่งขันมาก่อน จึงมองภาพไม่ออกว่าจะต้องฝึกจนกระทั่งเล่นแล้วไม่มีการพลาดเลย
ก่อนการแข่งขันได้ประมาณ 1 อาทิตย์ ซึ่งเป็นช่วงที่น้องจ๋ายปิดเทอมพอดี คุณครูอ้อได้ให้ไปซ้อมเพิ่มเติมที่บ้านคุณครู คุณแม่ก็ไปส่งน้องจ๋าย และได้พบกับน้องๆ ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะน้องปราง น้องปลื้ม ซึ่งมักจะว่างตรงกันในเวลาที่จะซ้อม ในครั้งแรกที่ซ้อมหนัก วันนั้นคุณแม่ไปส่งน้องจ๋ายเรียนเวลา 14.30-15.30 น. หลังจากนั้นคุณครูอ้อบอกว่าให้น้องจ๋ายอยู่ซ้อมต่อ จนเกือบ 21.00 น. จนเวลาประมาณ 19.30 น.คุณแม่ขึ้นไปดูน้องจ๋ายที่ห้องเปียโน (ห้องใหญ่) เข้าไปเห็นทั้งสงสารและอยากจะขำ เพราะสภาพดูเหนื่อยมาก ตาโรย น้องจ๋ายบอกว่าเหนื่อยมาก มือล้าไปหมด เกือบ 6 ชั่วโมง เล่นอยู่คนเดียว น้องจ๋ายเล่าให้คุณแม่ฟังว่าจ๋ายแค่รับโทรศัพท์นาทีกว่าๆ คุณครูก็เข้ามาดูแล้ว ทั้งๆ ที่สอนอยู่อีกห้อง วันแรกก็เลยขอพากลับก่อน วันนี้ก็เลยได้โอกาสสอนน้องจ๋ายเลยว่า ถ้าซ้อมมาตลอดก็จะไม่หนักอย่างนี้หรอกลูก พอครั้งที่สองคุณครูอ้อให้ไปส่งตั้งแต่ตอนเที่ยง ในวันนั้น น้องปราง น้องปลื้ม เริ่มซ้อมกันตั้งแต่ 10.30 ในวันนั้นคุณครูอ้อบอกว่า ถ้าเล่นผิดก็จะไม่ให้กลับ ทุกคนพยายามซ้อมกันอย่างตั้งใจจนถึง 22.20 น. ถึงจะสามารถผ่านได้ทั้ง 3 เพลง
ในการซ้อมครั้งที่ 2 นี้ น้องจ๋ายใจชื้นหน่อย เพราะมีน้องปรางน้องปลื้มมาร่วมซ้อมด้วย ก็ถัวเฉลี่ยกันไป ซึ่งพี่จ๋าย happy กับน้องๆ มากรู้สึกสนุกกับน้องทั้งสองมาก คุยกันถูกคอ ทั้งคุณแม่อ้อน ก็ใจดีมาก ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ที่ช่วยดูแลอาหารการกินอย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งอาหารคาว หวาน ไอศกรีม พี่จ๋ายเริ่มรู้สึกสนุกกับการซ้อมและคุยกับน้องๆ ซึ่งห่างหายไปนาน ในการซ้อมครั้งที่ 3 ซึ่งวันนั้นเริ่มจาก 12.00 น. และมี house concert ที่บ้านคุณครูตอนเย็น จากที่ทุกคนกลับไปแล้ว น้องจ๋ายก็ซ้อมต่อ จนเกือบเที่ยงคืนกว่าจะได้กลับบ้าน หลังจากนั้นแทบไม่น่าเชื่อเวลาเปิดเทอมวันแรก ปกติน้องจ๋ายจะโอ้เอ้ที่โรงเรียน กับเพื่อนๆ ครั้งนี้บอกคุณแม่ว่าให้รีบมารับกลับไวๆ เพราะจะได้มาซ้อมเปียโนที่บ้าน (amazing จริงๆ) และวันต่อมาก่อนวันแข่ง คุณครูอ้อก็เรียกมาซ้อม อีกครั้งน้องจ๋ายไม่อิดออดเลย และจะถามว่าน้องๆ มาด้วยมั้ย รู้สึกจะดีใจมากเมื่อบอกว่าน้องๆ มาด้วย รู้สึกสนุกกับการซ้อม และมีความตั้งใจมากขึ้น … จ๋าย happy กับการมาเจอน้องๆ
ในวันแข่งขันมาถึง น้องจ๋ายรู้สึกตื่นเต้น อาจจะเป็นเพราะไม่เคยแข่งขันมาก่อน คุณแม่ก็บอกว่าไม่เป็นไรทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน สำหรับผลที่ออกมาน้องจ๋ายไม่ได้เข้ารอบ ซึ่งคุณแม่บอกว่าไม่เป็นไรเพราะเราได้ทำดีที่สุดแล้วนั่นแสดงว่ามีคนอื่นเตรียมตัวพร้อมกว่าเรา ซ้อมมากกว่าเรา อันนี้ลูกจะได้รู้ว่าเมื่อมีการแข่งขัน เราต้องพร้อมให้มากที่สุด ซึ่งคุณแม่คิดว่าการแข่งครั้งนี้คุ้ม เพราะน้องจ๋ายได้เรียนรู้ว่าก่อนที่จะสำเร็จ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแข่งในครั้งนี้หรือในเรื่องของการเรียนก็ตาม คนที่สำเร็จไม่ได้ว่าอยู่ๆ ก็ได้มาง่ายๆ ต้องพยายาม ขยันให้มาก แล้วก็จะพบกับความสำเร็จ อีกอย่างที่สำคัญที่คิดว่าคุ้มมากคือได้พบกับน้องๆ ที่น่ารัก มีอัธยาศัยที่ดี และท้ายนี้ คุณพ่อและคุณแม่ขอขอบพระคุณคุณครูอ้อที่ให้โอกาส เสียสละและให้การสนับสนุนน้องจ๋ายให้ลงแข่งในครั้งนี้ด้วยค่ะ ทำให้ได้ประสบการณ์ที่คิดว่าน้องจ๋ายคงไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเคยซ้อมเปียโนเกือบ 10 ชั่วโมง ขอบคุณค่ะ
ชีวิตกับเปียโน
หลังจากได้รับข้อความผ่าน whatsapp จากครูอ้อว่าอยากให้โบร่วมเขียนบทความเกี่ยวกับเปียโนลงเวบไซด์ รู้สึกยินดีและดีใจมากค่ะ ชีวิตของโบกับการเล่นเปียโนอยู่ด้วยกันมานานอย่างไม่น่าเชื่อ ที่บอกว่าไม่น่าเชื่อเพราะหลายช่วงเวลาในชีวิตต้องหยุดเรียนไป เช่น ตอน ม.5 เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสไปอิตาลี 1 ปี กลับมาตอน ม.6 ก็ยังกลับมาเรียนเปียโน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังคงมาเรียนเปียโนกับครูอ้อเหมือนเคย แม้ซ้อมบ้าง ไม่ซ้อมบ้าง ก็พยายามมา อย่างน้อยช่วงต้นๆ ฟังพอเป็นเพลงแค่ท่อนเดียว แต่ก็มาเรียน เล่นให้ครูอ้อฟังให้ชื่นใจประมาณสิบนาที ฮ่าๆๆ ที่เหลือก็ เป็นที่รู้กัน…
ตอนเรียนอยู่ที่เกษตรฯ ครูอ้อก็แนะนำว่าให้ไปสมัครสอนเพื่อจะได้มีประสบการณ์และพัฒนาตนเองในอีกทางหนึ่ง ตอนนั้นก็แบบไปขำๆ ลองดู ได้เงินใช้ด้วย คิดแค่นี้จริงๆ ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 2 ก็จัดสรรเวลาสอนได้ไม่มีปัญหา แต่แล้วความเป็นจริงมันไม่ได้ขำอย่างที่คิด นักเรียนคนแรกอายุ 4 ขวบ คือน้องยังนั่งไม่ติดเก้าอี้ มุดไปมุดมา และยังเอาพวกตัว transformer มาเล่นแปลงร่าง ตอนนั้นคือใช้พลังแบบเหมือนวิ่งมาราธอน หลอกล่อคุณน้องแล้วจึงได้เริ่มสอน จากสอนเด็กตัวน้อย โรงเรียนก็ค่อยๆ เริ่มให้นักเรียนที่พอพูดเป็นประโยคเริ่มเช้าใจจนไปถึงผู้ใหญ่ระดับรุ่นคุณแม่ ความสามารถของนักเรียนแต่ละคนนั้นหลากหลาย พื้นฐานนิสัย การเรียนรู้ พัฒนาการของแต่ละคนนั้นต่างกัน ทำให้เรารู้ว่าการสอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ อยากสอนแล้วก็มาสอนได้
ดังนั้นโบก็รู้ว่าหัวใจสำคัญของการสอนนั้นก็คือการเตรียมตัวและวางแผนว่าในชั่วโมงนั้น เราต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตัวเราต้องรู้ว่าจังหวะแบบนี้คืออะไร โน้ตถูกไหม คำนี้แปลว่าอะไร ต้องอธิบายยังไงให้นักเรียนเข้าใจ คือจะเดาหรือถามใครไม่ได้แล้วในขณะที่สอน โบเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองเลยว่า ได้พัฒนาการสอน การตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบ ที่เขียนคือไม่ได้เขียนให้ตัวเองดูดีหรืออะไร แต่เมื่อไปยืนจุดนั้นแล้ว เราจะไปทำตัวแบบ “ขอโทษนะคะนักเรียนที่ครูมาสาย ขอโทษนะคะคุณพ่อคุณแม่ โบติดงาน ปวดท้อง ปวดหัว ไม่สบาย เลื่อนไปก่อนนะคะ” เมื่อบทบาทเปลี่ยนไป ประโยคพวกนี้มันคงไม่งามและน่าให้อภัยอีกต่อไป ก็ประมาณนั้น..
ในที่สุดเรียนจบเกษตรฯก็เริ่มทำงาน แล้วก็ยังมาเรียนเปียโนอยู่ ก็น่าจะเป็นนักเรียนแบบได้เหรียญเรียนทนเลยค่ะ มาวันหนึ่งในเดือนธันวาคม 2548 สายการบินเอทิฮัทโทรศัพท์มาให้ไปสัมภาษณ์แอร์ฯค่ะ และแล้วก็สอบผ่านและได้มาเป็นแอร์โฮสเตสแบบไม่น่าเชื่อเช่นกัน พอเดือนมีนาคม 2549 โบก็ต้องจากประเทศไทยไปอยู่ประจำที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
การเรียนเปียโนของพี่ปันปันและน้องแปม
เหตุผลเริ่มต้นที่อยากให้ลูกได้เรียนดนตรี ก็เพราะว่าคุณแม่ต้องการให้ดนตรีเป็นเครื่องช่วยให้ลูกมีสมาธิ ให้เด็กๆ มีอารมณ์สุนทรี และมีความรู้ติดตัวไป ซึ่งแรกๆ คุณแม่ก็คิดว่าเรียนใกล้บ้านก็น่าจะได้ เรียนที่ไหนก็คงคล้ายกัน แต่เป็นความโชคดีของปันและแปมที่ได้มาเรียนกับครูอ้อ เพราะครูอ้อได้ทุ่มเทกับการสอนให้กับเด็กๆเป็นอย่างมาก อีกทั้งก็เน้นย้ำให้เด็กต้องหมั่นฝึกซ้อมเพื่อจะได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้น ในตอนแรกก็คิดว่าลูกจะไหวไหมและจะเครียดไปไหม แต่หลังจากกาลเวลาผ่านไปจวบจนปัจจุบันนี้ ประกอบกับการได้เห็นคนอื่นๆ เล่นดนตรี คุณแม่เข้าใจแล้วว่า หากเราต้องการจะเล่นดนตรีให้ได้ดี ต้องมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และต้องให้คุณครูที่ดีที่คอยชี้แนะและใส่ใจทุกตัวโน้ตที่ลูกเล่น ซึ่งคุณแม่จะได้เห็นจาก comment ของครูอ้อในสมุดจดของลูกแทบจะเต็มหน้ากระดาษ การที่ครูอ้อใส่ใจกับการให้เด็กๆ ต้องฝึกฝน ทำให้เด็กเกิดวินัย และเกิดทักษที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเด็กเริ่มทำได้ก็จะมีความมั่นใจตามมา เชื่อไหมค่ะว่าแรกๆ จะดูเหมือนยากมาก ลูกๆ ไม่น่าจะทำได้ ลูกๆ จะบ่นบ้าง แต่อดทนนะค่ะ ลูกสามารถทำได้ค่ะ ถึงแม้บางช่วง ลูกๆ ต้องเรียนหนังสือหนักเพื่อจะไปมีวิชาชีพต่างๆ ในอนาคต ท้ายนี้ คุณแม่ต้องขอขอบพระคุณในความตั้งใจและทุ่มเทของครูอ้อที่มีให้กับน้องปันและแปมตลอดเวลาที่ผ่านมาค่ะ
การเรียนเปียโนของน้องเรย์
แม่นุชขอแชร์ประสบการณ์การการเลี้ยงดูและพัฒนาการของน้องเรย์ ลูกชายวัย 7 ปีนะคะ ช่วงตั้งครรภ์แม่นุชเปิดเพลงคลาสิคทุกวัน เปิดวนจนคลอดน้อง ไม่มีอาการแพ้ท้องเลยสักครั้ง อ่านมาว่าดีต่อการพัฒนาสมอง หลังคลอดก็เปิดให้ฟังตลอด ช่วงแรกเกิดน้องเรย์ไม่มีอาการโคลิกเลย เลี้ยงง่าย นอนหลับได้นานทานอาหารเก่งคะ นุชเชื่อว่าจากการฟังดนตรี ช่วยให้ทักษะในการได้ยินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ทำ ส่งผลให้มีพัฒนาการที่ดี เหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจคือ น้องเรย์สามารถบอกได้ว่าเพลง Demo ในเปียโนไฟฟ้าที่เราเปิดให้ฟัง เป็นเพลงที่เท่าไหร่ หลังจากทดสอบอีกหลายครั้ง เค้าก็ตอบถูกทุกเพลง
อ่านพบว่าการเรียนดนตรียังช่วยให้มีสมาธิในการเรียน และสัมพันธ์กับความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วัย 3 ปี (ช่วง อ.1–อ.2) แม่นุชพาน้องเรย์ไปเรียนเปียโนในสถาบันชื่อดังตามห้าง น้องเรย์เรียนรู้ได้เร็วมาก สามารถเรียนเล่นสองมือได้ก่อนเพื่อนๆ ในห้อง เป็นช่วงเดียวกับที่พาน้องเรย์ไปเรียนเลขที่คุมอง น้องเรย์สามารถคูณเลข 3 หลักได้ จนทางโรงเรียนขอถ่าย VDO เก็บไว้เพื่อการวิจัย ด้านโรงเรียนเปียโนครูจะส่งให้เรย์เป็นตัวแทนนักเรียนไปแข่งขันประจำปีของสถาบัน เพลงที่ใช้ในการแข่งขันเป็นเพลงที่เร็วและตัวโน้ตยากมาก น้องเรย์พยายามซ้อมอย่างหนักแต่ก็ได้แค่เล่นทันเท่านั้น ไม่มีความไพเราะเลย คุณครูไม่ได้สอนตัวโน้ต เทคนิค หรือ Dynamic อะไรเลย บอกให้ซ้อมบ่อยๆ เท่านั้น ลูกเครียดมากเพราะทำไม่ได้
แม่นุชหาครูเพื่อติวให้เรย์ในการแข่ง จนเจอเว็ปครูอ้อที่ศึกษามาทางด้านเปียโนโดยตรง มีประสบการณ์สอนเด็กประสบความสำเร็จในการแข่งขันในเวทีต่างๆ มาหลายปี หลังจากพูดคุยก็รู้สึกได้ว่าคุณครูมีความตั้งใจและคาดหวังจะให้ลูกศิษย์มีความรู้ในการเรียนเปียโนในทุกๆมิติ ไมใช่แค่เพียงเล่นเปียโน เป็นการพบครั้งแรกทำให้รู้ว่าเราโชคดีมากที่เจอครูที่เก่งเรื่องเปียโนจริงๆ ก่อนมาเจอครูอ้อนุชพาเรย์ไปเรียนกับครูมาหลายคน แล้วก็พบว่าถ้าครูไม่เก่งจริง การซ้อมอย่างหนักก็ไม่ได้ช่วยให้เล่นเก่งขึ้นได้ ครูอ้อบอกว่าเรย์ยังมีความรู้น้อยเกินไปที่จะเล่นเพลงที่จะแข่งนี้ได้ เพลงนั้นเป็นเพลงสำหรับคนที่เรียนในระดับที่สูงมากแล้ว แม้ว่าเรย์จะสามารถเล่นได้เร็วแต่ขาดความเพราะซึ่งก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปแข่งขัน ตั้งแต่นั้นมาน้องเรย์ก็ย้ายมาเรียนกับครูอ้อแทน
ช่วงที่เริ่มเรียนก็กังวลเล็กน้อยกับจำนวนหนังสือเรียนที่มีหลายเล่มมากและการบ้านที่ต้องไปฝึกซ้อม จากเดิมที่เรียนแค่เล่มเดียวเพลงสั้นๆง่ายๆ ไม่มีการบ้าน แต่สิ่งเหล่านี้ที่ครูให้มาถือเป็นพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นในการเรียนเปียโนให้เก่ง หลังจาการเรียนซักระยะ ลูกสามารถปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ได้ แม่นุชเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดหลายด้าน น้องเรย์ตั้งข้อมือขึ้นขณะที่เล่น ไม่ใช่เอามือพาดไว้ที่เปียโนและนิ้วกางๆ เพลงที่เล่นดูมีจังหวะและไพเราะขึ้นมาก และน้องเรย์สามารถเข้าใจตัวโน้ตและอ่านโน้ตได้เองไม่ใช่การจำเนื้อเพลงอย่างที่เคยเรียนมา ซึ่งการอ่านโน้ตเป็นทำให้สามารถเล่นที่เค้าชอบเองได้แม้ไม่ใช่เพลงที่ครูสอนเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพราะผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในสาถานการณ์อื่นๆได้เอง นอกจากนี้ครูอ้อยังส่งนักเรียนไปทดสอบวัดระดับกับสถาบันด้านดนตรีที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ โดยมี Professor มาสอบที่เมืองไทยและได้ใบประกาศในนามของสถาบันนั้นด้วย น้องเรย์สามารถทำคะแนนได้สูงในการสอบที่ผ่านมาและได้ใบประกาศระดับดีมาก( Distinction) ทุกวันนี้น้องเรย์มีผลการระเรียนที่โรงเรียนในระดับดีมากในทุกวิชา ร่าเริง อารมณ์ดี และมักจะฮัมเพลงอย่างมีความสุขเสมอ เค้าภูมิใจที่มีความสามารถพิเศษด้านเปียโน ซึ่งนุชคิดว่าจะเป็นการสร้าง Profile ที่ดีสำหรับลูกในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอนาคต
ความประทับใจที่มีต่อครูอ้ออีกอย่างคือ ครูเห็นความสำคัญในการแสดงออกบนเวที โดยจัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ตทุกปีเพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์บนเวที การแต่งกายและการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้น เด็กทุกคนมีโอกาสได้แสดงคะ น้องเรย์จากเด็กที่ขี้อายมากๆ ก็เปลี่ยนเป็นคนที่กล้ามากขึ้น และกล้าที่จะไปแสดงเดี่ยวเปียโนในงาน Music talent. ของโรงเรียนหลังจากผ่านการคัดเลือก Music Audition จากเด็กทุกระดับชั้น ครูอ้อมีความรักต่อลูกศิษย์อย่างมาก ครูมักจะเขียนมาเล่าเรื่องน่ารักๆกวนๆที่พบเจอเวลาสอนลูกศิษย์ และสอบถามหากพบว่าน้องเรย์มีผลงานการเรียนเปียโนที่แย่ลง ครูจะค่อยค่อยเป็นกำลังใจและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองเพื่อให้ ผ่านพ้นอุปสรรคในการเรียนไปได้คะ ครูอ้อมีความรักและห่วงใยลูกศิษย์อย่างแท้จริงคะ คิดว่าน้องเรย์โชคดีมากที่ได้เรียนกับครูอ้อคะ
พี่พิมกับการเรียนเปียโน
พิมได้เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ประถมต้นค่ะจำได้ว่าสนุกกับการเรียนดนตรีมากๆ แต่ตอนนั้นโรงเรียนที่เรียนจะเน้นเล่นให้เด็กฟังแล้วให้เด็กจำไปเล่นต่อไม่ค่อยได้อ่านโน้ตจึงทำให้อ่านโน้ตไม่คล่องเลย หลังจากนั้นพอพิมได้มาเรียนเปียโนกับครูอ้อ พิมต้องฝึกอ่านโน้ตใหม่จัดระบบการเรียนรู้ให้เป็นระบบมากขึ้น ตอนนี้ทักษะการอ่านโน้ตของพิมพัฒนาขึ้นและสามารถใช้ประสบการณ์จากสิ่งที่เรียนมาประยุกต์กับการเล่นเปียโนในเพลงที่ยากขึ้นและเพลงที่มีความซับซ้อนกว่าเดิมได้ การเล่นเปียโนนั้นมีประโยชน์หลายอย่างอย่างแรกคือ ทำให้มีสมาธิดีขึ้น เวลาเล่นเปียโนถ้าไม่มีสมาธิหรือใจลอยจะทำให้เล่นผิดลืมโน้ต เพราะเวลาเล่นเปียโนเราจะต้อง focus และตั้งใจกับมันมากๆ เป็นการต่อยอด เพื่อให้เราเกิดสมาธิเวลาทำเรื่องอื่นๆ ด้วย ประการต่อมาคือ การใช้เปียโนเป็นดนตรีเพื่อผ่อนคลายในช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยล้าหรือต้องการพักผ่อน การเล่นเปียโนก็สามารถทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียดนั้นลงได้ การเล่นดนตรีนอกจากจะช่วยทำให้คลายเครียดแล้วยังช่วยสร้างความมั่นใจสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเราอีกด้วย เช่น เวลาสัมภาษณ์งาน หากเรามีประวัติความสามารถในการเล่นดนตรีเพิ่มมา ก็จะทำให้เรามีความโดดเด่นน่าสนใจกว่าคนอื่นๆ อยู่ไม่น้อย
น้องปลื้มกับการเรียนเปียโน
นับเป็นเวลากว่าเจ็ดปีแล้วที่ข้าพเจ้ามีเปียโนเป็นเพื่อนเดินทาง และข้าพเจ้ากล่าวได้เลยว่าต้องใช้เวลา ความทุ่มเท และความหลงใหลมหาศาลกว่าจะสนิทกับเพื่อนร่วมทางคนนี้ แม่ของข้าพเจ้าเชื่อว่าเด็กๆไม่ควรใช้เวลาไปกับกิจกกรรมเบาปัญญาอย่างเดียว แต่ควรมีกิจกรรมอย่างกีฬาหรือดนตรีเพื่อขัดเกลาเด็กให้มีวินัยและความอดทนด้วย (ในระยะแรกเริ่ม ข้าพเจ้าไม่สามารถนับเปียโนเป็นกิจกรรมเบาๆได้เต็มอก) ดังนั้นท่านจึงกระตุ้นให้ลูกๆ ไปทำกิจกรรม สภาพอากาศอันร้อนอึดอัดของเมืองไทยก็ไม่ได้เอื้อกิจกรรมกีฬาแก่เด็กอืดอาดอย่างข้าพเจ้าเลย ตัวเลือกที่ชัดเจนที่สุดจึงเป็นดนตรี ข้าพเจ้าจำวันนั้นได้ วันที่เดินเข้าไปสมัครเรียนเปียโนที่โรงเรียนดนตรีใกล้บ้านแห่งหนึ่ง และโปรดอย่าได้ถามว่าทำไมถึงเลือกเจ้าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ เพราะคำถามนั้นก็ยังไม่มีคำตอบจวบจนปัจจุบัน ข้าพเจ้าคิดว่าคงเป็นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กคนหนึ่งที่มีต่อเครื่องดนตรีใหญ่ยักษ์กระมัง หลังจากเรียนที่นั่นได้สักพักจึงย้ายมาเรียนกับครูอ้อ (เสาวลักษณ์ ไมตรีจิตต์) ที่เสียงสานฝัน แม้นับจากวันแรกที่สัมผัสเปียโนมาราวสองปี ข้าพเจ้าก็ยังไม่พบว่าดนตรีให้ความเพลิดเพลินใจอย่างไร เวลาในช่วงเรียนก็ไหลไปเชื่องช้า ส่วนการซ้อมก็ชวนทรมาณ… เด็กแทบทุกคนในโลกย่อมคิดว่าการวิ่งเล่นหรือเล่นเกมสนุกกว่าเป็นแน่ จนกระทั่งครูอ้อส่งข้าพเจ้าแข่งขันเปียโน ข้าพเจ้าจึงเริ่มรู้สึกประทับใจในดนตรี นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งนั้นจะมารวมกันอยู่ที่ห้องเปียโนแล้วผลัดกันซ้อม แม้ทุกคนจะเคอะเขินบ้าง แต่การได้เล่นดนตรีกับเพื่อนๆก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่งเลย สำหรับนักเปียโนวัยเยาว์แล้ว การแข่งขันจัดเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก นอกจากจะขัดเกลาให้เด็กขยันซ้อมและมีวินัยหรือเป็นประตูให้เด็กได้รู้จักเวทีแล้ว การแข่งขันยังทำให้ใกล้ชิดดนตรีและพบเพื่อนใหม่อีกด้วย (พี่สาวข้าพเจ้าก็ได้เพื่อนใหม่เป็นผู้เข้าแข่งขันคนข้างๆ) หลังจากแข่งครั้งนั้น มุมมองที่ข้าพเจ้ามีต่อเปียโนก็ต่างไปโดยสิ้นเชิง ในที่สุดข้าพเจ้าก็เริ่มมีความสุขในการเล่นดนตรี
นอกจากความประทับใจที่กล่าวมาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้ข้าพเจ้าสนใจดนตรีก็คือจากการฟัง เมื่อเริ่มเรียนเปียโนใหม่ๆ แม่ก็ลองซื้อเพลงคลาสสิคให้ฟัง ซีดีแรกคือรวมเพลงยอดนิยมของโมซาร์ตและเบโธเฟน ส่วนเรื่องความประทับใจข้าพเจ้าบอกได้เลยว่าไม่ใช่ในทางบวกแน่ๆ เสียงเครื่องสายจากซิมโฟนีหมายเลขห้า ในบันไดเสียงซีไมเนอร์ โอปุสหกสิบเจ็ดของเบโธเฟนเสียดแทงโสตประสาทมาก ส่วนโอโบคอนแชร์โตของโมสาร์ตก็ราวกับไม่มีที่สิ้นสุดและชวนหลับ ต่อมาครูอ้อได้แนะนำให้รู้จักภาพยนตร์และการ์ตูนซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของนักดนตรีคลาสสิค “Nodame Cantabile” (นางเอกไม่เอาอ่าวผู้ไม่เคยอ่านโน้ตให้ดีก็คงตรงกับตัวข้าพเจ้าพอดี…) หลังจากดูเรื่องนั้นจบ ข้าพเจ้าและพี่สาวก็ไปขุดคุ้ยฟังเพลงจากในหนังและได้รู้จักคีตกวีสำคัญๆ การฟังของข้าพเจ้าตอนนั้นก็ไม่ได้ละเอียดอ่อนนักหรอก ขอให้เป็นวิดิโอ เพลงไม่ยาวมากและนักดนตรีเล่นเน้นอลังการไว้ก่อน เมื่อเริ่มคุ้นกับเพลงคลาสสิคแล้วจึงไปเสาะหาหนังสือชีวประวัติของคีตกวีมาอ่านและเริ่มไปหาเพลงเปียโนมาฟังเพิ่มเติม ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำเลยว่าแม่ขอให้พี่สาวและข้าพเจ้าเล่นเพลงตามซีดีให้ฟังสักวันหนึ่ง (ซีดีนั้นประกอบไปด้วยแฟนตาซี-อิมพรอมพ์ตูโอปุสหกสิบหกของโชแปงและเพลงยากๆอีกนานับประการ) เราทั้งสองได้แต่มองหน้ากันและกล่าวไปว่าคงเป็นไม่ได้ในชีวิตนี้ อย่างน้อยการฟังไปเรื่อยเปื่อยของเด็กๆก็ทำให้ข้าพเจ้าอยากจะศึกษาดนตรีต่อไปมากขึ้น
การฟังเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสดหรือไม่ก็ตาม เพราะการฟังทำให้รู้จักบทเพลงมากขึ้น สร้างความเข้าใจเรื่องเทคนิคต่างๆและเสียง เป็นแรงบันดาลใจ พัฒนาความเข้าใจและการตีความบทเพลง อีกทั้งยังสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านบันทึกเสียงเก่าๆ ได้อีก ชีวิตของข้าพเจ้าก็ดำเนินเรื่อยมานั้นแล แต่เมื่อเติบโตขึ้นจุดมุ่งหมายก็เปลี่ยนไป ความกดดันย่อมตามมาเป็นลำดับ บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าต้องกล้ำกลืนความผิดหวัง บ่อยครั้งที่ความจริงเจ็บปวดที่จะรับรู้ บ่อยครั้งที่เหนื่อยล้ากว่าจะเดิน.. แต่อย่างไรก็ตาม การจะเลิกทำตามความฝันบางครั้งก็ยากพอๆกับการจะลุกขึ้นยามท้อแท้เช่นกัน ข้าพเจ้าไม่อาจกล่าวได้ว่าตนเป็นผู้พิชิต แน่นนอนว่าข้าพเจ้ายังคงกังขา ท้อแท้และเกียจคร้าน แต่การใช้ชีวิตโดยมีดนตรีคู่ใจก็ได้สอนให้ข้าพเจ้าว่าช่วงชีวิตของมนุษย์นั้นก็เสมือนการเดินทางนั่นเอง มันไม่เคยราบรื่น บางครั้งก็ปั่นป่วนชวนสิ้นหวัง แต่กระนั้นแล้วเราก็ไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากเดินก้าวไป ลมหายใจไม่เคยหยุดนี่ยามชีวิตดำเนินอยู่
ณ ปัจจุบัน ข้าพเจ้ากำลังสนุกกลับเพลงที่เล่นแม้ว่ามันจะท้าทายกว่าที่เคยเผชิญมาก็ตาม ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงตอนอยู่ราวๆเกรดสี่ ช่วงเกรดสี่เป็นเสมือนอาถรรพ์หรือเวลาเปลี่ยนผ่าน เพราะเด็กๆมักไม่สู้มีแรงบันดาลใจเท่าไรนัก ขณะเดียวกันเพลงเองก็จะเริ่มซับซ้อน แต่หากอดทนฟันฝ่าช่วงเวลานั้นไปได้ ก็จะหาความสนุกในเพลงได้มากกว่าเดิม เพลงระดับสูงขึ้นให้อิสระแก่ผู้เล่นผ่านพื้นที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่มากขึ้น และจุดนั้นเองที่ดนตรีเป็นเครื่องปลอบประโลมจิตใจมนุษย์ เพราะในขณะที่ดนตรีเรียกร้องทุกความรู้สึกที่เรามีต่อโลกใบนี้ เราก็จำเป็นต้องพึ่งพาความอ่อนโยนของศิลปะเช่นเดียวกัน จิตใจของมนุษย์เองล้วนเกี่ยวพันกับสุนทรียศาสตร์อย่างเเน่นแฟ้นและลึกล้ำ ในขั้นที่ว่าศิลปะและชีวิตต่างมอบความเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน กว่าจะคุ้นเคยกับเปียโนและคีย์ดำคีย์ขาวทั้งแปดสิบแปด ข้าพเจ้าก็ต้องผ่านอะไรมาพอสมควร และยังมีอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ บางครั้งข้าพเจ้าก็คิดหน่ายเปียโนและอยากจะไปเล่นดนตรีอื่น เสียงเชลโลก็ชวนโหยไห้ หรือเสียงบาซซูนก็ไพเราะมีสเน่ห์ แต่ทุกครั้งที่กลับมาฟังเพลงพื้นๆ อย่างรอนโดของโมสาร์ตหรือฟิวก์ของบาค มันก็เป็นการย้ำเตือนว่า เสียงเปียโนเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าชอบที่สุด
***********
#สอนเปียโนตัวต่อตัว#รับสอนเปียโนทั้งเด็กและผู้ใหญ่#รับสอนเปียโนส่งสอบเกรดทุกระดับ#เรียนเปียโนให้เก่งไว#สอนเปียโนคลาสสิค#หาที่เรียนเปียโน#หาครูสอนเปียโน#สนใจเรียนเปียโนในกรุงเทพ#เรียนเปียโนเดี่ยว#เรียนเปียโนสำหรับเด็กเล็ก#ส่งสอบเกรดทุกสถาบันรวมทั้งLondon college of music#LCM#หาที่เรียนเปียโนแถวเกษตร#ลาดพร้าว#รัชดา#สอนเปียโนตั้งแต่4ขวบขึ้นไป#สอนเปียโนอย่างมืออาชีพ