ดนตรี: พรสวรรค์กับพรแสวง
ความเชื่อของคนโดยมากที่คิดว่าการเล่นดนตรีให้เก่งนั้น เด็กต้องมีพรสวรรค์ ถ้าเด็กคนนั้นเล่นดนตรีไม่เก่ง แสดงว่าไม่มีพรสวรรค์ ผู้ปกครองบางท่านจึงคิดว่าการให้เรียนไปเรื่อยๆ ไม่จริงจัง แล้ววันหนึ่ง ถ้าเห็นว่าเด็กมีพรสวรรค์ก็ค่อยสนับสนุนทีหลังจึงเป็นความเชื่อที่ทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ จากงานโฆษณาชิ้นหนึ่งทางโทรทัศน์ที่ผ่านสายตาของหลายๆ ท่านว่า “คนเราทุกคนเกิดมาพร้อมของขวัญคนละกล่อง ในแต่ละกล่องบรรจุพรสวรรค์ของแต่ละคน ทุกคนมีอิสระที่จะค้นหา พร้อมหรือยังที่จะแสวงหาพรสวรรค์เหล่านั้น” ฉะนั้นงานโฆษณาชิ้นนี้จึงสนับสนุนความคิดที่ว่า พรสวรรค์ไม่ได้เกิดจากการรอคอย ให้สวรรค์บันดาล แต่เป็นสิ่งที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครองต้องแสวงหาให้เด็ก แสวงหาครูที่ดี หาโอกาส สร้างโอกาสและให้โอกาสที่ดีกับเด็กตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เด็ก รู้สึกชอบดนตรีและรักดนตรีในที่สุด

สมัยก่อนการเรียนดนตรีตามสถาบันต่างๆมักจะให้นักเรียนเริ่มเรียนตั้งแต่ 7 ขวบ แต่ในปัจจุบันหลายสถาบันเปิดโอกาสให้เด็กเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ 4 ขวบ ดังนั้นการเรียนดนตรีตั้งแต่เล็กจึงเป็นการสร้างความรู้สึกสุนทรีย์ให้เกิดขึ้นกับเด็ก ได้ฟังบ่อย ได้ฝึกฝนบ่อย ก็จะเกิดความชำนาญ รู้สึกถึงความงดงามของดนตรี การที่เด็กได้สัมผัสดนตรีจะทำให้เด็กๆเหล่านั้นรู้จักแยกแยะดนตรีที่มีความละเอียด ออกจากดนตรีหยาบ รู้จักเลือกดนตรีที่มีคุณภาพออกจากดนตรีที่ด้อยคุณภาพ การที่เด็กมีพรแสวงจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการเรียน มากกว่าที่จะรอคอยพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว การแสวงหาครูที่ดี ของพ่อแม่ผู้ปกครองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะครูเป็นหัวใจสำคัญของการเรียน ไม่ใช่เรียนกับใครก็ได้ ครูที่ดีนั้นสามารถนำนักเรียนไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง ครูที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์ ไม่หยุดการเรียนรู้ มองเห็นอนาคตเด็ก เข้าใจเด็กแต่ละคน ครูบางคนสอนไปวันๆ ถึงชั่วโมงสอนก็เปิดหนังสือสอน ไม่ได้คิดว่าจะสอนอะไร ไม่มีแผนการสอน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะส่งเด็กไปสอบ เมื่อครูสอนไปเรื่อยๆ เด็กจึงเรียนไปเรื่อยๆ ครูไม่มีเป้าหมายในการสอน เด็กไม่มีเป้าหมายในการเรียน ปล่อยเวลาผ่านไป ยกตัวอย่างเช่น เด็กเรียนเปียโนมาประมาณ 7 – 10 ปี เพิ่งสอบเกรด 3 นั้น ถือว่าช้ามาก เด็กเสียเวลาเหล่านั้นไปกับครูที่ไม่มีความสามารถ เด็กเสียโอกาสหลายอย่าง ไปกับครูที่เห็นงานสอนเป็นเพียงงาน Part time ประกอบกับความเชื่อเรื่องพรสวรรค์ บวกกับความไม่รู้ของผู้ปกครองที่คิดว่าเรียนกับใครก็เหมือนกัน ถ้ามีพรสวรรค์ก็เก่งเองนั้น อนาคตในการเรียนดนตรีของเด็กจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่านอกจากเลือกครูที่ดีแล้ว ผู้
kids_activity_1
เรียนต้องมีความรับผิดชอบต่อการเรียน มีวินัยในการฝึกซ้อมจึงจะประสบผลสำเร็จ เพราะถ้านักเรียนไม่ฝึกซ้อมเมื่ออยู่ที่บ้าน ไม่ว่าครูเก่งสักเพียงใดก็ไม่สามารถทำให้เด็กคนนั้นเล่นดนตรีเก่งได้ และการเรียนดนตรีของเด็กนั้น ครูกับผู้ปกครองต้องสื่อสารกันตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและนำไปสู่จุดหมายที่วางไว้ทั้ง 3 ส่วนจึงเป็นองค์ประกอบที่เกื้อหนุนกัน

เมื่อเด็กเรียนดนตรีแล้ว ต้องหาโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ การแสดงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการเรียนดนตรี เพราะนอกจากจะเป็นผู้ที่มีฝีมือแล้ว ต้องเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี มีความมั่นใจในตนเอง ดังนั้นประสบการณ์ของผู้เรียนที่ผ่านการแสดงบนเวที เป็นการฝึกความมั่นใจ และเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียน ประการสำคัญ การแสดงดนตรีของนักเรียนนำมา ซึ่งความภาคภูมิใจของคุณพ่อคุณแม่และตัวผู้แสดงเอง เมื่อดนตรีเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในตนเอง และความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นนำไปสู่ การมองเห็นคุณค่าของตัวเอง มองเห็นคุณค่าของชีวิต เมื่อรู้สึกดีกับตนเอง ก็จะเผื่อแผ่ไปยังผู้อื่นด้วย กล่าวได้ว่าดนตรีมีส่วนร่วมสร้างคนให้มีคุณภาพ เพื่อให้คนที่มีคุณภาพสร้างสิ่งที่ดีให้แก่สังคม นอกจากกิจกรรมการแสดงแล้วก็ยังมีการประกวดดนตรีที่จัดขึ้นเป็นประจำ เช่น การแข่งขันเปียโนณัฐสตูดิโอ, การแข่งขันเปียโน AMEB, การแข่งขันเปียโนโชแปง, การประกวดเยาวชนดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอื่นๆอีกมาก ล้วนแล้วแต่เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เล่นดนตรีได้มีกิจกรรมดนตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแข่งขันในแต่ละรายการนั้นมีความยากง่ายต่างกัน ใช้เกณฑ์ต่างกัน แต่ที่สำคัญคือเกณฑ์อายุในการแข่งขันแต่ละรุ่น เช่น รุ่นเล็กอายุ 9 – 12 ปี ต้องเล่นเพลงระดับเกรด 5 เป็นอย่างน้อยซึ่งถือว่ายากมาก ดังนั้นการที่เด็กจะมีความสามารถถึงเกณฑ์เหล่านั้นได้ต้องแสวงหาความรู้ มีความรับผิดชอบต่อการเรียนและมีวินัยในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ผู้เขียนเองมักจะบอกลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “การแข่งขันอะไรก็ตามต้องมีแพ้มีชนะ แต่การแพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขัน ผลที่ได้จากการพัฒนาตนเองนั้นมีคุณค่ามากยิ่งกว่ารางวัล และการแสดงต่อหน้าสาธารณชนในการแข่งขันซึ่งมีผู้ชมนั่งเต็มหอประชุม ไม่ว่าจะเป็นหอเล็กของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือศูนย์วัฒนธรรมไทย-เยอรมัน ล้วนเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ และไม่ใช่ทุกคนจะทำได้” การแข่งขันเป็นเพียงสิ่งกระตุ้นให้นักเรียนฝึกฝนความรู้ความสามารถ ให้ดีที่สุดและส่งผลให้เกิดการพัฒนาความสามารถทางด้านดนตรีต่อไป ประสบการณ์แบบนี้หาไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งครูและผู้ปกครองรวมถึง ผู้จัดกิจกรรมดนตรีของหน่วยงานต่างๆ ควรสร้างโอกาสและให้โอกาสเหล่านี้ให้กับเด็ก

นอกจากพรแสวงของผู้ปกครองที่พยายามแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกเพื่อให้ลูกประสบผลสำเร็จในการเรียนดนตรีแล้วนั้น ผู้ปกครองต้องขยันรับ-ส่ง คอยดูแล ให้กำลังใจ จัดเวลาซ้อมให้กับเด็กด้วย ส่วนผู้เรียนต้องมีความอดทน ขยันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อฝึกฝนมาก เกิดความชำนาญ ดังทฤษฎีที่ว่า “ไม่เก่ง แต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญ แต่เคยมือ” จะทำให้พรแสวงนี้นำไปสู่พรสวรรค์ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่า “ดนตรีเป็นเรื่องของพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์”

Tags: